สอนภาษาไทยให้ active learning

เฉลิมลาภ ทองอาจ

        แนวคิดว่าการเรียนรู้เกิดจากการได้รับประสบการณ์มิใช่เรื่องใหม่  นักการศึกษากลุ่ม
พิพัฒนาการนิยม (progressive education) ได้กล่าวถึงการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น (active) ไว้ตั้งแต่ในราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุปว่า การเรียนรู้เกิดจากการได้ลงมือกระทำ หรือได้ปฏิบัติในบริบทจริง ดังนั้น แนวคิดนี้จึงให้ความสำคัญต่อการจัดกิจกรรม ที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการคิด การพูด การเขียน การเล่น การประดิษฐ์ การแก้ปัญหา การอภิปราย ฯลฯ มากกว่าการให้ผู้เรียนฟังบรรยายและท่องจำความรู้ตามครูผู้สอน

        กิจกรรมการเรียนรู้แบบกระตือรือร้น (active learning) มีลักษณะเป็นกิจกรรม ที่ให้ผู้เรียนได้ลงมือทำ และได้คิดเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองทำอยู่ (Bonwell & Eison, 1991) โดยภาพรวมแล้ว ผู้เรียนได้คิด ได้พูด ได้ลงมือทำเพื่อแก้ปัญหา หรือสร้างสรรค์ในลักษณะต่าง ๆ ทำให้ได้ฝึกพัฒนาทักษะอย่างหลากหลายด้านตลอดกระบวนการเรียนรู้  สำหรับในวิชาภาษาไทย สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ  active learning ได้ในทุกสาระการเรียนรู้  โดยเฉพาะสาระการเรียนรู้ที่เป็นทักษะพื้นฐานได้แก่ สาระการเรียนรู้การอ่านนั้น  ได้มีการเสนอกิจกรรมการสอนอ่านตามแนวคิด active learning ไว้หลายหลายกิจกรรม อาทิ Columbia University (2017) ได้เสนอกิจกรรม active learning ในการสอนอ่านไว้
สรุปได้ดังนี้

กิจกรรมการบรรยาย (describe) ครูให้ผู้เรียนบรรยายสาระสำคัญของเรื่อง เหตุการณ์ ประเด็น หรือมโนทัศน์ในด้านความเชื่อ ค่านิยมต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในสิ่งที่อ่าน โดยพยายามที่จะบรรยายตามความเข้าใจ หรือใช้ภาษาของตนเอง

กิจกรรมการอธิบาย (explain) ครูให้ผู้เรียนอธิบายความหมายของคำ กลุ่มคำ สำนวน หรือประเด็นบางประการ ที่ปรากฏในงานเขียนที่อ่าน โดยแสดงให้เห็นลำดับขั้นตอน ความเป็นเหตุเป็นผล หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเด็นต่าง ๆ ในสิ่งที่อ่าน

กิจกรรมการวิเคราะห์ (analyze)   นักเรียนควรได้รับการฝึกให้วิเคราะห์รูปแบบของสิ่งที่อ่าน แยกแยะลักษณะการใช้สำนวนภาษาของผู้เรียน  ลีลา  น้ำเสียง และกลวิธีการเขียน ตลอดจนคุณค่าและข้อคิดต่าง  ๆ ในงานเขียน

กิจกรรมการสำรวจ (explore) ครูให้นักเรียนสำรวจเนื้อหาส่วนต่าง ๆ ของสิ่งที่อ่านว่าได้กล่าวถึงประเด็นอะไรบ้าง  มีความคิด ความเชื่อ หรือข้อสรุปของผู้เรียนอะไรบ้าง  เช่น มีเรื่องชีวิต การแบ่งแยก ชนชั้น สีผิว ความเป็นหญิง ชาย วัฒนธรรม ความคิดกระแสหลัก ความคิดกระแสย่อย หรือความคิดในลักษณะใด ผสมอยู่ในงานเขียนบ้าง

กิจกรรมการเชื่อมโยง (relate) ครูให้นักเรียนคิดเชื่อมโยงประเด็นต่าง ๆ ที่พบในการอ่านไปสู่ประเด็นอื่น ๆ ที่จะทำให้เกิดมุมมองที่หลากหลาย  โดยใช้ประสบการณ์ในการเชื่อมโยงเพื่อให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นในมุมมองหรือมิติอื่น ๆ ที่อาจจะทำให้เกิดการตีความแบบใหม่

ประสบการณ์เป็นสิ่งที่มีคุณค่า และเป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่คงทนยั่งยืน  วิชาภาษาไทยประกอบด้วยส่วนที่เป็นมโนทัศน์ หลักการ และกระบวนการอันเป็นทักษะในการสื่อสาร ดังนั้นในการจัดการเรียนการสอน จึงต้องให้มีครบถ้วน ทั้งการเรียนรู้ในส่วนของเนื้อหา ซึ่งต้องอาศัยการทำความเข้าใจและจดจำ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการสอนที่ให้ผู้เรียนได้ลงมือทำ ลงมือปฏิบัติ อันจะทำให้เกิดทักษะกระบวนการปฏิบัติในระดับที่เรียกว่า คล่องแคล่วและชำนาญ ด้วยเหตุนี้  ครูภาษาไทยจึงต้องให้ความสำคัญต่อการออกแบบการเรียนการสอนโดยใช้แนวคิด active learning ซึ่งสามารถจัดได้อย่างหลากหลาย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนเป็นรายบุคคล

_________________________________________________________________

รายการอ้างอิง

Bonwell, C. C., & Eison, J. A. (1991). Active Learning: Creating Excitement in the     Classroom. 1991 ASHE-ERIC Higher Education Reports. ERIC Clearinghouse on     Higher Education, The George Washington University, One Dupont Circle, Suite    630, Washington, DC 20036-1183.

Columbia University, Graduate School of Arts & Sciences Teaching Center. (2017).
Active Learning. Available from http://www.columbia.edu/cu/tat/pdfs/active%
20learning.pdf
[2017, May 29]