การรู้หนังสือ (literacy): เริ่มต้นที่การอ่าน

เฉลิมลาภ ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

                ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของประเทศไทย แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แต่เดิมนั้น เรื่องของการรู้หนังสือ เป็นเรื่องเฉพาะของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ตั้งแต่โบราณ หนังสือคือเครื่องแสดงความศักดิ์สิทธิ์ ผู้รู้หนังสือ รู้ในอักษร เจนจัดในอักขรวิธี คือนักบวช พราหมณ์ สมัยต่อมา เรื่องหนังสือ ก็กลายเป็นเรื่องของชนชั้นสูง กษัตริย์ ขุนนาง และในสังคมศักดินา ตลอดจนสังคมที่ถือบุรุษเป็นศูนย์กลางนั้น ความรู้ในการอ่านออกเขียนหนังสือได้ ก็กลายเป็นเรื่องหวงห้าม ผู้คนกลุ่มที่มิได้กล่าวถึงมาก่อนหน้านี้ จะหาศึกษาเรียนรู้ได้ไม่ หากจะมีอยู่บ้าง ก็เป็นแต่การลักลอบเรียนเอาเท่านั้น

เมื่อการศึกษาไทยได้รับการปฏิรูปในช่วงกว่า ๓ ทศวรรษที่ผ่านมา ตลอดจนองค์การระดับโลกอย่างสหประชาชาติ ได้กำหนดให้อัตราการรู้หนังสือ เป็นตัวชี้วัดการพัฒนาประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นการลงหลัก ปักฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในคราวประชุมเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๕ ได้กำหนดให้ วันที่ ๘ กันยายน ของทุกปี เป็นวันรู้หนังสือนานาชาติ (International Literacy Day) ตั้งแต่นั้น ความเชื่อเรื่องของหนังสือ ที่เป็นการศึกษาในเชิงศักดิ์สิทธิ์ ก็สงวนไว้แก่อภิสิทธิ์ชนก็พังทลายลง  แนวคิดการศึกษาเพื่อปวงชนขยายตัวขึ้น  ผลที่ตามมาก็คือ ได้ก่อให้เกิดยุทธศาสตร์ โครงการและกิจกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก  ที่ทำให้นานาชาติเกิดความตระหนักร่วมกัน ถึงความสำคัญของการจัดการศึกษา เพื่อให้ประชาชนในประเทศของตนอ่านออก เขียนได้ และมีความรู้ความเข้าใจในการคิดคำนวณระดับพื้นฐาน เพื่อที่จะใช้ในการดำเนินชีวิต ทั้งนี้เนื่องจากผู้ที่รู้หนังสือถือเป็นผู้ที่มี “พลังอำนาจ” ในการที่จะคิด และตัดสินใจเกี่ยวกับตนเอง ดังที่อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาติ นายโคฟี อันนัน (Kofi Annan) ได้กล่าวไว้โดยสรุปว่า การรู้หนังสือคือกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของชีวิต และเป็นเครื่องมือที่บุคคลสามารถนำไปใช้เพื่อการเสริมสร้างพลังอำนาจในตนเอง รวมถึงการเสริมสร้างพลังให้แก่ ๓ เสาหลักของ การพัฒนาที่ยังยืน ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาด้านสังคม และการปกป้องสิ่งแวดล้อม จากคำกล่าวดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า พื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องเริ่มจากการที่คนรู้หนังสือ และการรู้หนังสือนี้เอง ที่จะทำให้คนมีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนา เปลี่ยนแปลงและปกป้องสิ่งแวดล้อม รวมถึงทรัพยากรต่าง ๆ อันเป็นเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

ที่มา: http://council.seattle.gov/2014/01/27/city-of-lite…

 

คำว่า การรู้หนังสือ เป็นศัพท์บัญญัติในสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถานได้เก็บคำนี้ไว้ในพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ (๒๕๕๕: ๓๓๗) โดยให้ความหมายว่า “ความสามารถของบุคคลในการ อ่านออก เขียนได้ คิดคำนวณได้ในระดับที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง มาตรฐานการรู้หนังสือของประชากรแต่ละกลุ่มที่ความแตกต่างกัน” จากความหมายดังกล่าว ความสามารถในการรู้หนังสือจึงประกอบด้วยความสามารถ ๓ ประการ กล่าวคือ ประการแรก บุคคลต้องมีความสามารถในการอ่าน คือ รู้ว่าคำที่มองเห็นอ่านออกเสียงว่าอย่างไร และมีความหมายอย่างไร นี้จึงเรียกว่าอ่านได้ ประการที่สอง คือ เขียนได้ คือสามารถที่จะถ่ายทอดความคิดของตนผ่านการใช้คำ แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นประโยค ข้อความ หรือเรื่องราวในลักษณะต่าง ๆ ที่สื่อให้ผู้อื่นเข้าใจได้ และประการสุดท้ายคือ การคิดคำนวณพื้นฐาน อันได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของจำนวน การบวก ลบ คูณ หารเลข เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน โดยทั่วไปแล้ว การศึกษาที่สามารถที่จะทำให้ประชากรต่าง ๆ รู้หนังสือได้นั้น คือการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐาน (basic education) เนื่องจากเป็นการศึกษาเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้พื้นฐานใน ๔ ด้าน คือ พุทธิศึกษา จริยศึกษา พลศึกษา และหัตถศึกษา ซึ่งการศึกษาในทุกด้าน ล้วนแต่ต้องใช้การอ่าน การเขียนและคำนวณเป็นพื้นฐานและเป็นเครื่องมือในการศึกษาทั้งสิ้น

ความสามารถในการอ่านออก เป็นองค์ประกอบด้านแรกของการรู้หนังสือ ซึ่งมีความสำคัญ และมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ก่อนที่จะไปนำไปสู่การเขียน และการคิดคำนวณ จึงจำเป็นที่จะต้องขยายความทั้งในเรื่องของนิยาม และแนวทางการพัฒนาผู้เรียนในเบื้องต้น ดังนี้

คำว่าอ่านออกที่แสดงไว้ข้างต้น ที่จริงแล้ว มิได้หมายถึงการอ่านออกเสียงได้เท่านั้น แต่หมายถึง การมองเห็นคำ แล้วทราบว่าคำนั้นอ่านว่าอย่างไร และมีความหมายว่าอย่างไรด้วย นักวิชาการของราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๕๕: ๔๔๑) ให้ความหมายของคำว่า ความสามารถในการอ่าน (reading ability) ไว้ว่า หมายถึง “ทักษะการอ่านกวาดสายตาอย่างคล่องแคล่ว ในการอ่านข้อความจากสิ่งพิมพ์ หรือจากข้อเขียน แล้วสามารถเก็บความและตีความได้อย่างถูกต้อง เป็นการอ่านด้วยความตั้งใจและคิดอย่างมีเหตุผล ความสามารถนี้วัดได้จาก ความเร็วในการอ่าน การออกเสียงคำ รวมถึงการอ่านแผนภูมิหรือแผนภาพด้วย”จากความหมายนี้ แสดงให้เห็นว่า ความสามารถในการอ่านคือความสามารถทางภายภาพและทางปัญญาควบคู่กัน ในด้านกายภาพคือความรวดเร็วว่องไวของสายตาในการมองคำ ข้อความ แผนภาพ หรือแผนภูมิ ส่วนในด้านปัญญา คือ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายต่าง ๆ (meaning) ที่ปรากฏ ทั้งที่เป็นความหมายอย่างตรงไปตรงมา และความหมายอันเกิดจากการตีความ หรือการใช้ประสบการณ์ขยายความให้แจ่มกระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เมื่อทราบถึงนิยามแล้ว ลำดับต่อไป  ก็จำเป็นจะต้องกล่าวถึงแนวทางการพัฒนาความสามารถในการอ่าน เพื่อสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในสถานศึกษา

ที่มา:  http://gbcsblog.wordpress.com/

 

การสอนอ่านให้เกิดประสิทธิภาพนั้น ต้องเริ่มต้นจากการที่ผู้สอนส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดนิสัยการอ่าน (reading habit) คือ ความชอบหรือความพึงพอใจที่จะได้อ่านเป็นเนื่องนิตย์เสียก่อน จากนั้นจึงตามด้วยการสอนเพื่อให้ผู้เรียนรู้วิธีอ่าน (reading method) ซึ่งหมายถึง กลวิธีพลิกแพลงที่จะช่วยให้ตนเอง เข้าความหมายหรือเรื่องที่อ่านได้มากยิ่งขึ้น วิธีอ่านที่นิยม เช่น การคาดคะเนความหมายจากบริบท การเขียนแผนภูมิโครงเรื่อง การฝึกการรู้คิดขึ้นสูง (metacognition) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถจัดสร้างห้องปฏิบัติการทางการอ่าน (reading laboratory) ซึ่งมีโปรแกรมการอ่านพัฒนาการอ่าน ที่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนเป็นรายบุคคล โดยมุ่งเน้นการฝึกทักษะการอ่านพื้นฐาน การรับรู้สาร การอ่านเอาเรื่อง การอ่านเพื่อการพัฒนาสุนทรียภาพ และการอ่านซ่อมเสริม (remedial reading) ในสถานศึกษา ในกรณีที่ผู้เรียนบางคนมีความจำเป็นจะต้องพัฒนาเพิ่มเติม หรือประสบปัญหาด้านการอ่าน (ดูเพิ่มเติมใน “ห้องปฏิบัติการทางการอ่าน” พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน หน้า ๔๔๔)

สถานศึกษาที่จะพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถในการอ่าน อันเป็นองค์ประกอบแรกของการรู้หนังสือ จึงต้องพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้รู้จักวิธีการสอนอ่าน ตลอดจนเทคนิคหรือกลวิธีในการทำให้ผู้เรียน สามารถที่จะใช้สายตาประกอบการอ่านได้อย่างถูกต้อง คล่องแคล่ว สามารถที่จะอ่านออกเสียงคำ พิจารณาความหมาย สร้างความเข้าใจเนื้อหา ตลอดจนสามารถตีความและขยายความเรื่องที่อ่าน ไปสู่ประเด็นอื่น ๆ อันเป็นการขยายความคิดของผู้เรียนได้กว้างขวางออกไป ซึ่งจะเห็นได้ว่า การสอนอ่านเท่าที่ปฏิบัติในโรงเรียน โดยเฉพาะในหลักสูตรและการเรียนการสอนภาษาไทยในปัจจุบัน ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยเฉพาะเรื่องของการอ่านออกเสียงและการทำความเข้าใจคำ ผู้เรียนส่วนหนึ่งจึงยังประสบปัญหาการอ่านไม่ออก ซึ่งเป็นปัญหาที่อันตรายและนำไปสู่ปัญหาการเรียนรู้อื่น ๆ ในระดับที่สูงขึ้น แนวคิดในการสร้างและพัฒนาโปรแกรม เพื่อใช้ในห้องปฏิบัติการทางการอ่าน และการสอนอ่านซ่อมเสริม จึงถือเป็นอีก แนวทางหนึ่ง ที่อาจจะนำมาใช้แก้ปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัยผู้ที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการสอนอ่าน มาพัฒนาโปรแกรม และสร้างเครื่องมือ ตลอดจนสื่อและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการรู้หนังสือ ในด้านของการอ่านขึ้นมาได้อย่างแท้จริง

หากสามารถวางแนวทางการปฏิบัติดังที่กล่าวมาข้างต้นได้อย่างแท้จริงแล้วไซร้ ก็อาจเชื่อได้ว่า อัตราการรู้หนังสือของประชากรในประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นและไปถึงเป้าหมายสูงสุดคือ ทุกคนสามารถที่จะอ่าน เขียนและคิดคำนวณได้ และผู้ที่ไม่รู้หนังสือมีอัตราลดลง กระทั่งเป็นศูนย์ในที่สุด

______________________________________________________