วิธีสอนภาษาไทย

สอนบรรยายอย่างไรให้เกิดการเรียนรู้

เฉลิมลาภ ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

              โลกแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษใหม่ เป็นโลกที่ครูควรจะพูดให้น้อย และผู้เรียนควรจะเรียนรู้ให้มาก (talk less learn more) การเรียนรู้ในห้องเรียนจะลดบทบาทลง ผู้เรียนจะหันไปเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ นอกห้องเรียนมากยิ่งขึ้น บทบาทของครูผู้สอนจึงต้องเปลี่ยนแปลงเป็นผู้ให้คำแนะนำวิธีการเรียนรู้ และวิธีการแสวงหาความรู้ มากกว่าจะเป็นผู้เล่าหรือบอกความรู้ หากเป็นไปดังที่กล่าวมานี้ ก็ดูเสมือนหนึ่งว่า ครูยุคใหม่ ควรที่จะลดการสอนแบบบรรยาย บอกเล่าความรู้ของตนเองลง ไปและทำ “อย่างอื่น ๆ” ให้แก่ผู้เรียนแทน

คำถามคือ การสอนแบบบรรยายของครู ไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้วจริงหรือไม่

ก่อนที่จะตอบคำถามข้างต้น ควรที่จะทำความเข้าใจเบื้องต้นเสียก่อนว่า วิชาความรู้นั้น โดยทั่วไป เป็นวิชาความรู้ที่ผู้อื่นคิดค้นเอาไว้ เนื้อหาสาระที่สอนในวิชาวิทยาศาสตร์ ก็เป็นผลมาจากการค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์ ฝ่ายวิชาภาษาไทย ก็เป็นผลมาจากการศึกษาของนักภาษาและนักวรรณคดี ครูในทุก ๆ กลุ่มสาระการเรียนรู้ จะได้เป็นผู้บุกเบิก หรือมีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยในศาสตร์นั้น ๆ ก็หาไม่ แต่ครูเป็นผู้ที่ได้รับความรู้เชิงวิชาการเช่นนี้มาก่อน มีเวลาที่ได้ศึกษาและค้นคว้ามาอยู่ในช่วงระหว่างการเรียนวิชาครู ดังนั้น ครูจึงมีความรู้ที่ลึกในวิชาเฉพาะที่ตนเรียน ในขณะที่ผู้เรียนซึ่งเป็นวัยเด็กนั้น แน่นอนว่า เมื่อจะต้องมาศึกษาเนื้อหาวิชาความรู้ต่าง ๆ ด้วยตนเอง ก็ย่อมเป็นอุปสรรคอยู่เป็นธรรมดา เพราะนักเรียนจะต้องเรียนวิชาต่าง ๆ หลายวิชา ดังนั้นเวลาเรียนจึงไม่เพียงพอ ที่จะให้ความสำคัญกับวิชาต่าง ๆ ในลักษณะที่เฉพาะเจาะจงลงไป เพื่อให้การศึกษาสาระการเรียนรู้เป็นไปในเชิงลึก ไม่ต้องใช้เวลาในการศึกษาด้วยตนเองมาก จึงทำให้วิธีการสอนแบบบรรยาย ยังคงเป็นวิธีสอนที่จำเป็นอยู่ เพราะครูได้มีโอกาสขยายความรู้ในเชิงลึก ซึ่งผู้เรียนอาจจะไม่มีเวลาศึกษาด้วยตนเองเพียงพอ และการบรรยายก็มิได้เป็นการปิดกั้นความคิดของผู้เรียน เพราะการบรรยายที่ดีนั้นก็คือ  การสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หรือความคิดเห็นกันระหว่างผู้สอนและผู้เรียนในประเด็นอันเป็นแก่นสารความรู้ต่าง ๆ   หากผู้สอนมีทักษะการบรรยายสูง และผู้ฟังมีสมาธิ คิดตามประเด็นที่ผู้บรรยายบอก ผู้เรียนก็สามารถเข้าใจและเกิดปัญญาความคิดได้ไม่ต่างจากวิธีการสอนวิธีอื่น ๆ เช่นกัน แต่ทั้งนี้ จะต้องดำเนินตามขั้นตอนที่นักวิชาการแนะนำไว้ด้วย เพื่อมิให้การสอนแบบบรรยาย ไปคล้ายกับการเทศนาธรรมะ หรือเป็นการสื่อสารทางเดียวของผู้สอนไปเสียหมด

เพื่อให้การสอนบรรยายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และนำไปประยุกต์ได้อย่างแท้จริง นักวิชาการได้แบ่งขั้นตอนของการสอนแบบบรรยายไว้ ๗ ขั้นตอน สรุปได้ดังนี้ (Cotttrell,๒๐๐๑: ๑๐๑)

             ๑. ขั้นเตรียม เป็นขั้นตอนที่ผู้สอน เตรียมความพร้อมผู้เรียน ให้พร้อมในการเรียนรู้ ผู้สอนสามารถใช้กิจกรรมเพื่อละลายพฤติกรรม เพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกว่าตนเองมีส่วนรวม และต้องตั้งใจในการศึกษาสิ่งที่ผู้สอนจะบรรยาย อีกทั้งควรที่จะใช้เวลาในช่วงนี้ สำหรับการชี้แจงกฎ กติกาต่าง ๆ ระหว่างการเรียนการสอน เพื่อให้ปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง เช่น จะเปิดโอกาสให้ซักถามอย่างไร จะเข้าหรือออกห้องบรรยายในเวลาใด จะต้องทำสิ่งใดบ้างระหว่างที่ผู้สอนบรรยาย ทั้งนี้ การวางกฎระเบียบดังกล่าว ถือว่าสำคัญมาก เพราะจะทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้การจัดการชั้นเรียนมีประสิทธิภาพ

             ๒. ขั้นนำ กิจกรรมในขั้นนำมีเป้าหมายที่สำคัญอยู่สองประการ ประการแรกคือเพื่อพิจารณาว่า ผู้เรียนมีความรู้หรือทักษะพื้นฐาน ที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ในครั้งนี้มากน้อยเพียงใด อีกประการหนึ่ง ก็เพื่อที่จะให้ผู้สอน เชื่อมโยงความรู้หรือทักษะที่ผู้เรียนมีอยู่เดิมนั้น กับสิ่งที่ผู้สอนจะบรรยายในครั้งนี้ ครูสามารถที่จะใช้กิจกรรม เช่น การถามคำถาม หรือการให้ผู้เรียนระดมสมองว่า ในชั่วโมงหรือคาบเรียนที่ผ่านมานั้น ตนเองได้เรียนรู้หรือเกิดความเข้าใจเรื่องอะไรบ้าง ผู้สอนเมื่อได้อ่านผลการระดมสมองหรือฟังคำตอบของผู้เรียน ก็จะสามารถประเมินและหาวิธีการเชื่อมโยงสิ่งที่จะบรรยายกับประเด็นความคิด เหล่านั้นได้ ทั้งนี้ หากเห็นว่า ผู้เรียนจำไม่ได้ หรือความรู้เดิมไม่เพียงพอ ครูผู้สอนก็ต้องทบทวนและสรุปสาระสำคัญของเนื้อหาที่จำเป็นให้แก่ผู้เรียนอย่างกระชับและรวดเร็ว

              ๓. ขั้นชี้แจงผลลัพธ์ ผู้บรรยายต้องสร้างความชัดเจนว่า หลังจากที่บรรยายเสร็จสิ้นแล้ว สิ่งที่ผู้เรียนควรจะทราบหรือปฏิบัติได้คืออะไร ทั้งนี้ ผู้บรรยายก็ควรที่จะบอกเป้าหมาย หรือผลลัพธ์ดังกล่าวนั้นแก่ผู้เรียนด้วย เพื่อให้ผู้เรียนทราบว่า จะต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้ตนเองมีความรู้หรือเกิดทักษะอันเป็นผลลัพธ์เหล่านั้นได้อย่างครบถ้วน ในการสอน ผู้สอนสามารถที่จะชี้แจงวัตถุประสงค์ของการเรียน หรือการฟังบรรยายแก่ผู้เรียนในเบื้องต้น เช่น หลังจากที่เรียนหรือฟังบรรยายแล้ว นักเรียนทุกคนจะต้องสามารถบอกลักษณะของประโยคในภาษาไทย หรือหลังจากที่เรียนแล้ว นักเรียนสามารถจำแนกได้ว่า คำสรรพนามถามและคำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะ แตกต่างกันอย่างไร เป็นต้น การชี้แจงผลลัพธ์นี้ สัมพันธ์กับขั้นตอนที่ ๕ ที่ผู้บรรยายจะต้องตรวจสอบการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย

               ๔. ขั้นเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น ขั้นตอนนี้คือขั้นที่ผู้เรียนจะต้องศึกษาและเรียนรู้เนื้อหาต่าง ๆ ที่จะบรรยาย ซึ่งในฝ่ายของผู้สอนนั้น ก็ควรที่จะแบ่งกิจกรรมการบรรยายออกเป็นส่วน ๆ ไม่ควรมีลักษณะเป็นการบรรยายความรู้ด้วยการบอกเล่า หรืออธิบายของผู้สอนแต่เพียงอย่างเดียว โดยควรที่จะมีเวลาของการบรรยาย การถามคำถาม การตอบคำถาม การอภิปรายคู่ การอภิปรายกลุ่ม การแข่งขัน การคิดวิเคราะห์ การนำเสนอ ผสมอยู่ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสขบคิด และขยายความรู้จากที่ครูสอนให้มากยิ่งขึ้น ในขั้นตอนระหว่างที่ผู้เรียนกำลังศึกษาเนื้อหา และประยุกต์เนื้อหาเพื่อที่จะนำมาขบคิดวิเคราะห์นั้น ผู้เรียนอาจจะประสบอุปสรรคอยู่บ้าง ผู้สอนจะต้องรู้จักสังเกตว่า ขณะนี้ ผู้เรียนประสบปัญหาในการทำความเข้าใจเนื้อหาที่บรรยายแล้วหรือไม่ หรือมีประเด็นใดบ้าง ที่ผู้เรียนยังไม่เข้าใจชัดเจน ผู้สอนจะต้องมีความ “ไว” ต่อปฏิกิริยาของผู้เรียน ทั้งขณะที่ฟังบรรยายและระหว่างที่ปฏิบัติกิจกรรม เพื่อให้สามารถที่จะเข้าไปแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนวิธีการพูดหรืออธิบาย ให้ผู้เรียนเข้าใจมากยิ่งขึ้น หรือสามารถที่จะปฏิบัติกิจกรรมระหว่าง การบรรยายได้อย่างถูกต้อง เป็นไปตามทิศทางที่ผู้สอนคาดหวังไว้

              ๕. ขั้นตรวจสอบการเรียนรู้ ผู้สอนจะไม่มีทางทราบเลยว่า ขณะนี้ผลลัพธ์ที่คาดว่าผู้เรียนจะเกิดมีขึ้นนั้น ได้เกิดขึ้นแล้วหรือยัง ผู้เรียนเข้าใจแล้วหรือไม่ ผู้เรียนเข้าใจแล้วหรือไม่ หรือผู้เรียนปฏิบัติหรือเกิดทักษะขึ้นแล้วหรือไม่ เพื่อให้ทราบคำตอบ ผู้สอนจำเป็นจะต้องมีกิจกรรมบางประการ เพื่อตรวจสอบการเรียนรู้ของผู้เรียน กิจกรรมเบื้องต้น เช่น การถามตอบคำถาม การให้ผู้เรียนอธิบาย การให้ผู้เรียนทำกิจกรรมการแก้ปัญหา ซึ่งต้องใช้ความรู้ที่ได้ฟังบรรยายไป เป็นต้น คำถามที่ถาม ควรจะเป็นคำถามที่เน้นการประยุกต์ใช้ เพื่อให้ผู้เรียนแสดงให้เห็นว่า เขาสามารถที่จะใช้สิ่งที่ศึกษาไป มาแก้ปัญหา หรือมาอธิบายสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ครูกำหนด ตัวอย่างเช่น หากครูผู้สอนบรรยายเรื่อง หลักการวิเคราะห์วรรณคดี เมื่อบรรยายแล้ว ผู้สอนอาจจะกำหนดตัวบทวรรณคดีบางช่วงบางตอน สำหรับให้ผู้เรียนแสดงการวิเคราะห์ ด้วยการพูด เขียน เล่า หรืออธิบาย ดังนี้ เพื่อให้สามารถจะตรวจสอบได้ว่า การบรรยายนั้นมิได้สูญค่า แต่ผู้เรียนเข้าใจแล้วอย่างแท้จริง และเมื่อทราบผลการตรวจสอบแล้ว ผลนั้นก็จะช่วยให้ผู้บรรยายตัดสินใจต่อไปได้ว่า ควรที่จะให้ข้อมูลความรู้ใดเพิ่มเติมแก่ผู้เรียนได้บ้าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ครบถ้วนและสมบูรณ์

                ๖. ขั้นเชื่อมโยงสู่อนาคต เมื่อได้ตรวจสอบแล้วว่า ผู้เรียนเกิดความรู้หรือทักษะจากการที่ได้ฟังบรรยายหรือฝึกปฏิบัติ ผู้สอนก็ควรจะชี้แจ้งให้ผู้เรียนทราบต่อไปว่า ความรู้หรือทักษะที่มีอยู่นี้ จะเป็นประโยชน์อย่างไรต่อการเรียนรู้ครั้งต่อไป หรือจะขยายความรู้เหล่านั้น ให้พัฒนาต่อไปมากขึ้นได้อย่างไร ในการเรียนรู้ครั้งหน้า ผู้สอนสามารถควรที่จะกล่าวถึงภาพรวมของเนื้อหาสาระ ที่ผู้เรียนจะได้ศึกษาในครั้งหน้า แล้วให้ผู้เรียนเชื่อมโยงว่า เขาสามารถใช้ความรู้ ณ ขณะปัจจุบัน ไปเป็นพื้นฐานในการศึกษาและทำความเข้าใจ หากผู้เรียนเชื่อมโยงได้ เขาก็จะเห็นว่า สิ่งที่เรียนมีประโยชน์ มีความหมายสำหรับตัวเขา พวกเขาก็จะจดจำและทำความเข้าใจไว้อย่างมั่นคง ตัวอย่างเช่น หากผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องชนิดของคำในภาษาไทย ครูผู้สอนก็ควรจะกล่าวเรื่องกลุ่มคำหรือประโยค ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เรียนจะต้องใช้ความรู้เรื่องชนิดของคำเป็นพื้นฐาน เป็นต้น ดังที่กล่าวมานี้ ในการบรรยาย จึงไม่ควรจัดเนื้อหาบรรยายในลักษณะเป็นการ “ตัดตอน” แต่ควรที่จะแสดงให้เห็นการเชื่อมโยง และการสนับสนุนของเนื้อหา คือ ควรที่จะให้การศึกษาเนื้อหาหนึ่ง เป็นพื้นฐานให้ศึกษาอีกเนื้อหาหนึ่งต่อไป เป็นต้น

                ๗. ขั้นพิจารณาความสำเร็จที่ลงลึกอย่างมั่นคง ช่วงสุดท้ายของการบรรยาย เป็นช่วงของ การไตร่ตรองความคิดที่เกิดขึ้นการเรียนหรือการฟังบรรยายทั้งหมด ตามธรรมดาแล้ว เป็นไปได้น้อยมาก ที่ผู้เรียนจะจดจำรายละเอียดทุกช่วงทุกตอนของการบรรยายได้ แต่ขณะที่ฟังบรรยาย แน่นอนว่า ผู้เรียนจะต้องเกิดความคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นความคิดที่ตกผลึกจากการฟังและพิจารณาสิ่งที่ผู้สอนบรรยายทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ ผู้สอนควรให้ผู้เรียนพิจารณาความคิด ที่เกิดขึ้นจากการฟังบรรยายเหล่านั้นในช่วงท้ายของการบรรยายเป็นขั้นตอนสุดท้ายด้วย เพราะความคิดความเข้าใจรวบยอดนั้น ย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด มีลักษณะที่คงทน มั่นคง เป็นความคิดหรือหลักการที่ยังคงจดจำได้ ยึดหลักไว้ได้ และจะเป็นเพียงสิ่งเดียว ที่ผู้เรียนจะยังคงจดจำหรือเข้าใจ หลังจากที่ออกจากชั้นเรียนไปแล้ว นี่จึงจะเรียกว่าการบรรยายประสบความสำเร็จ เพราะผู้เรียนเกิดความรู้หรือความเจ้าใจรวบยอดในเนื้อหาที่ได้ฟังบรรยายไปทั้งหมดนั่นเอง

วิธีสอนบรรยายตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น หาได้เป็นวิธีสอนที่ล้าหลัง หรือเป็นวิธีสอนที่สกัดกั้นการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่อย่างใดไม่ ผู้บรรยายที่ดี ที่รู้จักสังเกตพฤติกรรมการตอบสนองของผู้เรียน สามารถที่จะพูดบรรยายเพื่อที่จะกระตุ้นให้ผู้เรียนใช้ความคิด ขยายความรู้และทักษะจากที่ฟังบรรยายไปสู่สถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ ได้ รวมถึงสามารถที่จะตรวจสอบได้ว่า ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ขึ้นแล้วจริงหรือไม่ และควรที่เพิ่มเติมสิ่งใดลงไป ย่อมเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการบรรยาย คือ ผู้เรียนเกิดผลลัพธ์ดังที่ประสงค์ ทั้งยังทำให้เกิดความเข้าใจในเชิงลึกได้ภายในระยะเวลาที่ค่อนข้างจะรวดเร็ว ดังนั้น หากหันมาปรับปรุงวิธีการบรรยาย ให้มีความหลากหลาย มีกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนใช้ความรู้และความคิดอยู่โดยตลอด และทำให้ผู้เรียนเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนด้วยกันแล้วไซร้ ก็เชื่อได้ว่าวิธีสอนนี้ จะคงยังประโยชน์ให้แก่ผู้เรียน ทุกคนได้อย่างแท้จริง

________________________________________________